8 โรคฮิตในเด็ก ที่ต้องระวัง รู้เร็วรักษาไว!
“วัยเด็ก” เป็นช่วงวัยที่ต้องดูแลใส่ใจในเรื่องของสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะในช่วงนี้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือ เด็กโตวัยเข้าโรงเรียนต้องคลุกคลีกับคนหมู่มาก ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเกิดโรคได้ง่าย มาดูกันว่าโรคฮิตในเด็ก ที่ลูกน้อยเสี่ยงที่จะเป็นในทุกฤดูกาลจะมีโรคอะไรบ้าง สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วพ่อแม่จะป้องกันอย่างไร? โลตัส มันนี่ พลัส รวมมาให้แล้ว..ติดตามกันได้เลย
เกิดจาก การติดเชื้อไวรัส มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี
อาการ เหมือนไข้หวัดแต่รุนแรงกว่า ได้แก่ ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะรุนแรง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น
การรักษา ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรับยาฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ กินยาตามอาการ เช็ดตัวลดไข้ นอนพักผ่อนมากๆ
การป้องกัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป คนป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมไปถึงไม่คลุกคลีหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย และการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย
โรค RSV
เกิดจาก เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะติดต่อกันได้ง่าย ส่วนมากตัวเชื้อไวรัสนี้จะลงไปที่หลอดลมฝอย หรือลงไปที่ตัวเนื้อปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบ หรือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ
อาการ คล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่ระยะเวลาในการเป็นจะนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ไอนาน มีน้ำมูกเยอะ มีเสมหะมากกว่าเด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดา หากมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง จะมีอาการของภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรือปอดอักเสบร่วมด้วย
การรักษา ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส RSV โดยตรง จะใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก
การป้องกัน ไม่มีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ RSV ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย สอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี ใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ รักษาความสะอาด หากมีคนในบ้านป่วยควรแยกและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ถ้าหากลูกมีอาการควรแยกหรือหยุดเรียนทันที ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกทางนึง
โรคมือเท้าปาก
เกิดจาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แพร่ผ่านระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย
อาการ เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก บริเวณเพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ
การรักษา โดยทั่วไปจะรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ก็ให้กินยาลดไข้ เช็ดตัว หรือถ้ามีอาการคัน ก็อาจจะกินยาแก้แพ้ แก้คันได้ ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ
การป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุด คือ หยุดการแพร่กระจายของเชื้อ ควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ พร้อมกับดูแลสุขอนามัยให้ถูกต้อง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ผู้ปกครองควรดูแลเรื่องความสะอาดของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด
โรคท้องร่วง ท้องเสีย
เกิดจาก สาเหตุของโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย นอกจากนี้เด็กบางคนอาจเกิดท้องร่วงได้จากการแพ้นม ขาดอาหาร หรือได้รับยาปฏิชีวนะบางตัว
อาการ อาการถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือถ่ายเป็นมูก หรือเป็นมูกปนเลือด อาจมีอาการไข้ อาเจียน ปวดท้อง ร่วมด้วยก็ได้
การรักษา เมื่อเด็กเริ่มมีอาการท้องร่วง ควรให้มีการทดแทนด้วยการให้กินน้ำเกลือแร่ เมื่อเด็กถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ป้อนให้บ่อยๆ ให้อาหารและนมตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร
การป้องกัน ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัยด้านอาหาร
โรคไข้เลือดออก
เกิดจาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ
อาการ จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้สูง 38 – 40 องศา เกิน 2 วัน อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หรือมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ระยะวิกฤติ ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่อาการแย่ลง เป็นระยะที่ต้องระวัง เพราะพ่อแม่อาจเข้าใจผิดว่าเด็กกำลังจะหายจากไข้เลือดออกแล้ว ทั้งๆ ที่เด็กอาจกำลังเข้าสู่ระยะช็อกที่จะมีความรุนแรงตามมา และระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น
การรักษา ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก หากเด็กมีอาการไข้สูงหลายวัน ควรพบแพทย์ทันที และห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
การป้องกัน การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ลดประชากรยุงในบริเวณที่อยู่อาศัยโดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย กำจัดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ
โรคอีสุกอีใส
เกิดจาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงฤดูร้อน สามารถติดต่อกันด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มที่ผิวหนัง หรือเสมหะของคนไข้ หรือการใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็นโรค
อาการ จะมีอาการคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก คือ จะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รวมถึงปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และมีผื่นขึ้นตามใบหน้า ลำตัวและหลัง ตุ่มนูนมีน้ำใสๆ คล้ายตุ่มหนอง และจะมีอาการคันร่วมด้วย
การรักษา เป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรงมากนัก มีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ก็สามารถหายเองได้ และตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายไปภายใน 1-3 สัปดาห์ การพักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมกับดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้แค่ทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดอาการไข้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาด หลีกเลี่ยงแกะหรือเกา สามารถใช้ยาช่วยลดอาการคันได้
การป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว และมีประสิทธิภาพการป้องกันโรคได้มากถึง 90% พ่อแม่ควรจะระมัดระวังคอยสอนลูกให้ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และพยายามหลีกเลี่ยงผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้
โรคปอดบวมในเด็ก
เกิดจาก ภัยของเจ้าตัวเล็กที่มักมากับอากาศหนาว เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ปอดอักเสบ
อาการ มีไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ไอมีเสมหะ อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย
การรักษา หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ดูแลรักษาที่บ้านได้ โดยแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ กินยาตามอาการ ได้แก่ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงยาลดน้ำมูก เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียว ส่งผลให้เด็กไอเพิ่มขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาล
การป้องกัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามมาตรฐานกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค โดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดผู้ป่วยทุกประเภท พร้อมฝึกให้เด็กๆ ล้างมือบ่อยๆ เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับอย่างเพียงพอ
โรคหัด
เกิดจาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดอาการไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง
อาการ มีลักษณะเด่นคือ มีอาการไข้ ร่วมกับการติดเชื้อทางเดินหายใจชัดเจน เช่น ไอบ่อย มีน้ำมูกมาก ตาแดง ปากแดง นำมาก่อนที่จะมีผื่นที่ผิวหนัง
การรักษา เน้นการรักษาตามอาการ เหมือนโรคไข้หวัด เช่น เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น ยาแก้ไอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ
การป้องกัน นอกจากการป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยแล้ว โรคหัดสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน